หุ่นมือ - Hand Puppet


(ถ้าสมัครสมาชิก Pass Book Club ลดเพิ่มอีก 5%)

หุ่นมือ (Hand Puppet) เป็นหุ่นประเภทหนึ่ง ที่ครูใช้เพื่อเป็นสื่อการสอนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่นำเอาสิ่งใหม่ที่อยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์เข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเสริมให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยประหยัดเวลาในการสอน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) การใช้สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น 

หุ่นมือ นั้นแสดงโดยการเชิด ด้วยการใช้นิ้วมือสอด แล้วขยับให้มือ หัว และปากของหุ่นเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ หุ่นมือนี้มีหลายแบบ ทั้ง หุ่นมือถุงกระดาษ หุ่นมือถุงมือ หุ่นมือถุงเท้า และ หุ่นนิ้วมือ ซึ่งหุ่นมือเหล่านี้เป็นเหมือนตัวแทนของมนุษย์ในการเคลื่อนไหว แสดงลีลา อารมณ์ และสื่อสารความคิดต่างๆ ให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านเสียงพากย์ และอิริยาบถของหุ่น เพื่อสร้างความสนุกสนาน ให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และยังเป็นความงดงามที่แสดงออกถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ให้เด็กๆ ได้ศึกษา และเรียนรู้ไปพร้อมกับการแสดงของหุ่นมือ

ผู้รู้บางท่านได้นิยามว่า หุ่น คือ ตัวละครที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีรูปทรง 2 มิติ หรือ 3 มิติ ก็ได้ โดยมีบทบาทเป็นตัวแทนของคน สัตว์ สิ่งของ และความคิดต่างๆ ซึ่งเคลื่อนไหวและสื่อสารภายใต้ความพยายามของผู้เชิดหุ่น ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำครูผู้สอนเด็กระดับปฐมวัย ในการนำหุ่นมาใช้เป็นสื่อเพื่อจัดกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการให้เด็กในด้านต่างๆ ประกอบกับการเรียนรู้ของเด็ก
  1. ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคม โดยการให้เด็ก และครู ร่วมกันเชิดหุ่นกับเพื่อน ๆ การแบ่งหน้าที่ในการจัด การเชิดหุ่น จะทำให้เด็กรู้จักเรียนรู้ผู้อื่นและสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ซึ่งก่อให้เกิดความสามัคคี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและช่วยฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก 
  2. ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ โดยเด็กจะได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ตนเองพร้อมกับการแสดงออกทางความคิด ความฝันจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีโอกาสแสดงจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ ให้ปรากฏ การเชิดหุ่นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความนัยใจของตน โดยแสดงผ่านหุ่นเชิด 
  3. ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษา หุ่นสามารถส่งเสริมการใช้ภาษาของเด็กให้ดีขึ้น ด้วยการใช้หุ่นสร้างการเริ่มต้น “ประสบการณ์ทางภาษา” โดยใช้หุ่นเป็นตัวละคร ถือดินสอ คาบดินสอหรือส่งบัตรคำที่เตรียมไว้ นำมาติดบนบอร์ดกระดาษทราย แล้วใช้หุ่นเล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ออกคำสั่งให้ออกเสียงตามหุ่น เด็กก็จะได้รับความสนุกสนานผ่านการเรียนจากหุ่นมาก 
  4. ใช้หุ่นเป็นสื่อในการสอนวิชาต่างๆ ได้หลายวิชา เช่น ศิลปะ คณิตศาสตร์ ร้องเพลง เกม ตลอดจนวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น นำหุ่นมาตกแต่งเป็นต้นไม้ ดอกไม้ เกสร และผีเสื้อ แล้วแสดงการเรียนรู้เรื่อง ขบวนการผสมเกสรดอกไม้ จะทำให้การเรียนรู้นั้นสนุกสนาน เข้าใจง่าย พร้อมทั้งช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้กับเด็กที่ไม่ชอบเรียนวิชาต่าง ๆ อีกให้ดีขึ้นด้วย 
นอกจากนั้น หุ่นยังช่วยชี้แนวทางในการประพฤติปลูกฝังค่านิยมต่างๆ เช่น การรักษาความสะอาด การเสียสละแล้ว หุ่นยังช่วยเผยแพร่แนวคิด เช่น ความรู้เรื่องประชาธิปไตยและสาธารณสุข และชี้ให้เห็นผลของการกระทำที่ดีและไม่ดี เป็นต้น 

หุ่นมือ หลักสำคัญในการนำหุ่นมาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนระดับปฐมวัย เพื่อพัฒนาความพร้อมและประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ด้วยเหตุผล และคุณลักษณะพิเศษของหุ่นคือ หุ่นมีมิติสามารถทำเลียนแบบของจริงได้ ทำให้เด็กสนใจและชักจูงให้ร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสนุกสนาน เมื่อนำหุ่นประเภทต่างๆ มาประกอบการเล่านิทาน หุ่นจะเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนเป็นอย่างดี หุ่นเป็นสื่อในการเรียนการสอน ที่มีบทบาทสำคัญต่อเด็กระดับปฐมวัยเป็นอย่างมาก ควรแก่การสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้ศึกษาและสร้างหุ่นประเภทต่างๆ สามารถนำไปใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ